ประวัติ สวท.พัทลุง
 
 
 
 

 สวท.พัทลุง

      เป็นหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล สังกัดสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐบาลกับประชาชน ตลอดจนระหว่างประชาชนด้วยกัน โดยวิธีการให้ข่าวสาร ความรู้ข้อเท็จจริงและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเพื่อเสนอรัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังทำหน้าที่โน้มน้าว ชักจูงประชาชน เพื่อก่อให้เกิดความร่วมมือแก่รัฐบาลและหน่วยราชการต่าง ๆ ตามแนวทางที่ถูกที่ควรในระบอบประชาธิปไตย โดยมี พระมหากษัตริย์เป็นประมุข 

 

เริ่มก่อตั้ง สวท.พัทลุง 

     

          สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพัทลุง จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2520 โดย นายดิเรก ดิเรกวัฒนะ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ได้มีหนังสือถึงกรมประชาสัมพันธ์ ให้จัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงขึ้นที่จังหวัดพัทลุง เนื่องจากประชาชนในจังหวัดพัทลุง ไม่สามารถรับฟังความรู้ข่าวสารและรายการบันเทิงต่างๆ จากสถานีอื่นได้เนื่องจากสภาพภูมิประเทศไม่เอื้ออำนวยพร้อมแวดล้อมไปด้วยป่าและภูเขาสูง เพื่อสนองความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น และสกัดจุดบอดที่ปลอดสัญญาณคลื่นวิทยุภายในประเทศ กรมประชาสัมพันธ์ จึงได้จัดทำโครงการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพัทลุงขึ้น โดยทำหนังสือถึงสำนักงบประมาณเพื่อขออนุมัติใช้งบกลางเมื่อวันที่ 19มกราคม 2520 สร้างอาคารที่ทำการและบ้านพักข้าราชการเป็นเงิน 1,839,000 บาท และใช้เงินรายได้สมทบ 1,561,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 3,400,000 บาท ชึ่งทางจังหวัดพัทลุงได้ให้การสนับสนุนจัดหาที่ดินราชพัสดุ หมายเลข 7673 ,7678 และ 7,679 (ปัจจุบันแปลงหมายเลข พท 216 )เนื้อที่ 4 ไร่ 1 งาน 76 ตารางวา ติดถนนไชยบุรี ตำบลคูหาสวรรค์ อำเภอเมืองจังหวัดพัทลุง ให้กรมประชาสัมพันธ์ใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพัทลุง และได้สร้างเสร็จ สามารถส่งกระจายเสียงได้เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2523 (ปัจจุบันได้คืนที่ดินดังกล่าว ให้ธนารักษ์พื้นที่ฯ)

          ต่อมาเมื่อปี 2532 กรมประชาสัมพันธ์ ได้ทำโครงการขยายบริการวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม ขึ้นทั่วประเทศจำนวน 34 สถานี และเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2532 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้กรมประชาสัมพันธ์ขยายเขตบริการวิทยุกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม ทั่วประเทศและจังหวัดพัทลุงเป็นจังหวัดหนึ่งที่กรมประชาสัมพันธ์ได้จัดลงในแผนงาน โดยมอบหมายให้ศูนย์ประชาสัมพันธ์ เขต 6 สงขลา (ชื่อปัจจุบัน สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา)และสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพัทลุง ดำเนินการสำรวจหาสถานที่ก่อสร้างในระยะเริ่มแรก จังหวัดพัทลุงได้จัดหาที่ดินที่ราชพัสดุ ตำบลควนมะพร้าวเนื้อที่ 100 ไร่แต่เนื่องจากห่างไกลตัวเมือง ถนนหนทางอยู่ในสภาพการใช้การได้บางฤดูเท่านั้น ทำให้ไม่สะดวก ในการติดต่อราชการกับส่วนราชการอื่นๆจึงมาหาสถานที่ใหม่ เช่น ที่ยอดเขาสำนักสงฆ์สันนิบาตบรรพต(เขาวังเนียง) และเนินวัดควนปรง แต่สภาพพื้นที่ไม่เหมาะสมกับทางด้านเทคนิค นายสมพงศ์ ศรียะพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ในขณะนั้น ได้เสนอแนะที่ดินวัดร้างหูรอ ตำบลท่ามิหรำ อำเภอเมืองจังหวัดพัทลุง ซึ่งมีเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา ที่ดินดังกล่าวเป็นวัดร้างอยู่ในความดูแลของกรมศาสนากระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งตามระเบียบของกรมศาสนาจะต้องเช่าเก็บเป็นรายปีแต่เนื่องจากสภาพพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ลุ่มน้ำท่วมขัง หากก่อสร้างจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นค่าถมปรับพื้นที่เป็นจำนวนสูง กรมประชาสัมพันธ์จึงได้พิจารณาหาที่ดินแปลงใหม่ โดยทำหนังสือที่ นร 1817/6153 ลงวันที่ 2 ธันวาคม 2535 ถึงนายไพโรจน์ พรหมศาสตร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง ทางจังหวัดได้นำเรื่องการขอใช้ที่ดินเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการพิจารณาใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุของจังหวัด ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยจังหวัดพัทลุง ระบบ เอฟ.เอ็ม ใช้ที่ราชพัสดุทะเบียนหมายเลขที่ 226 ตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ในเนื้อที่ 9 ไร่ 2 งานซึ่งอยู่ในความครอบครองของโรงเรียนบ้านคลองลำยุง สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพัทลุง จากนั้นกรมประชาสัมพันธ์ได้ทำหนังสือที่ นร 1817/116 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2536 ขออนุญาต ใช้ที่ดินดังกล่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ และได้รับหนังสืออนุญาต เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2536

          ปีงบประมาณ พ.ศ. 2537 ได้รับงบประมาณในการจัดตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง แห่งประเทศไทยจังหวัดพัทลุง ระบบ เอฟ.เอ็ม สเตอริโอมัลติเพล็กซ์ ความถี่ 98 เมกกะเฮิรตซ์ กำลังส่ง 1 กิโลวัตต์ พร้อมอุปกรณ์ส่วนควบและเสาอากาศสูง 100 เมตร ในวงเงิน 12,842,230 บาท ออกอากาศได้ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2538 เป็นต้นมา และเพื่อความสะดวกในการบริหารจัดการงานวิทยุในระบบ เอ.เอ็ม และเอฟ.เอ็ม ในปี พ.ศ. 2545 จึงได้ย้ายเครื่องส่งและการบริหารจัดการสถานี มาไว้ร่วมกัน ณ ที่ตั้งปัจจุบัน เลขที่ 111 หมู่ 5 ตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง โดยออกอากาศพร้อมกันทั้ง 2 ระบบ ตั้งแต่เวลา 05.00-24.00 น. เป็นประจำทุกวัน ครอบคลุมทั้ง 11 อำเภอ
ของจังหวัดพัทลุง และบางส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง จังหวัดสตูลและจังหวัดสงขลา ที่มีพื้นที่ติดกับจังหวัดพัทลุง

 ตรากรมประชาสัมพันธ์

      ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งปรากฎในราชกิจจานุเบกษา ตอนที่ 7 เล่มที่ 64 ลงวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2490 กำหนดเครื่องหมายราชการ "กรมโฆษณาการ” ให้เป็นรูปพระอินทร์เป่าสังข์เหาะลอยอยู่เหนือเมฆ มีวงกลมล้อมรอบตามวรรณคดีกล่าวไว้ว่า พระอินทร์เป่าสังข์ปลุกพระนารายณ์ให้ตื่นจากบรรทมสินธุ์ในสะดือทะเล เพื่อขึ้นมาปราบเหตุร้ายต่าง ๆ ในโลก อย่างไรก็ดี โดยที่สังข์ ตามลัทธิพราหมณ์ถือว่าเป็นมงคล 3 คือ สังข์ ถือกำเนิดจากพระพรหม ท้องสังข์เคยเป็นที่ซ่อนคัมภีร์พระเวทและตัวสังข์ มีรอยนิ้วพระหัตถ์ ของพระนารายณ์ ในพิธีทางศาสนา พราหมณ์ จึงมีการเป่าสังข์เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วย นอกจากนี้ พระในลัทธิชินโตก็ใช้สังข์เป่าในพิธีมงคลพวกชาวเกาะทะเลใต้ เป่าสังข์ บอกสัญญาณระหว่างกันปรากฏว่าได้ยินไปไกลไม่แพ้เป่าเขาควาย เนื่องจากงานประชาสัมพันธ์เป็นการโฆษณาเผยแพร่และอธิบายชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจอย่างกว้างขวางเป็นการสร้างความเข้าใจอันดี โดยมีวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ และภาพยนตร์เป็นเครื่องช่วย จึงเปรียบได้กับการเป่าสังข์ของเทวดาในสมัยโบราณเพื่อบอก สัญญาณ และเรียกประชุม นั่นเอง

 

 สีกรมประชาสัมพันธ์

ใช้สีม่วง ซึ่งถือกันว่าเป็นสีของงานสื่อสารมวลชนและการประชาสัมพันธ์

 

Link banner

 

Copy code นี้ไปลงในเว็บไซต์ของท่าน

 <a href="http://www.prd.go.th" target="_blank"><img src="http://www.prd.go.th/images/prd_banner01.jpg" border="0" alt="กรมประชาสัมพันธ์"

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar