โครงการสร้างท่าเทียบเรือเกาะสมุย และพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว มุ่งสู่ Tourism Hub

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีกำหนดการเดินทางไปตรวจราชการ ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานี (อำเภอเกาะสมุย) และจังหวัดนครศรีธรรมราช ระหว่างวันที่ 6 - 8 เมษายน 2567 เพื่อติดตามงานสำคัญตามนโยบายรัฐบาลโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ แหลมนิคม อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี ยกระดับการท่องเที่ยวเรือสำราญในประเทศไทย

นายสุริยะ จึงรุ่งเรือกิจ รัฐมนตีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ตามนโยบายสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวของรัฐบาล กรมเจ้าท่าได้วางแผนพัฒนาท่าเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ครอบคลุมเส้นทางเดินเรือฝั่งอ่าวไทย รองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ และท่าเรือปลายทางที่ฮ่องกง โดยจอดที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี และท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี

สำหรับฝั่งอันดามันรองรับการเดินเรือในเส้นทางจากท่าเรือต้นทางที่สิงคโปร์ แวะเข้าจอดที่เกาะภูเก็ต และจังหวัดกระบี่ ปัจจุบันโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่ (Cruise Terminal) ณ ท่าเรือแหลมฉบัง และบริเวณฝั่งอันดามันอยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม ความคุ้มค่า รูปแบบการลงทุนพัฒนารวมถึงวิเคราะห์การดำเนินการตามแนวทาง พ.ร.บ. การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 สำหรับโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือฯ อำเภอเกาะสมุย ศึกษาความเหมาะสมฯ แล้วเสร็จ

โครงการสร้างท่าเทียบเรือเกาะสมุย Cruise Terminal พร้อมเดินหน้า

• เป็นโครงการตามทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด อยู่บริเวณทางตอนใต้เกาะสมุย ที่แหลมนิคม ดำเนินการในรูป Public Private Partnership (PPP) ให้เอกชนร่วมลงทุน

• ขอบเขตการดำเนินงาน ได้แก่ การก่อสร้าง-รองรับอาคารผู้โดยสาร ได้ 1,200 คนต่อชั่วโมง

• ท่าเรือที่จะให้บริการแบ่งออกเป็น ท่าเรือเฟอร์รี่ (ทางเลือก) เพื่อให้บริการผู้โดยสาร ที่ต้องการเดินทางไปและกลับจากจังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช, ท่าเรือยอร์ช (ทางเลือก) จะมีท่าเทียบเรือที่ทันสมัย รองรับเรือยอร์ช ได้ถึง 80 ลำ

ภาคธุรกิจท่องเที่ยวเกาะสมุยหนุนเต็มที่ สร้างเม็ดเงินต่อเนื่อง

นายรัชชพร พูลสวัสดิ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาะสมุย กล่าวว่า ถือเป็นโครงการที่ดีมากๆ สำหรับชาวอำเภอเกาะสมุย และเป็น Landmark สำคัญที่เรือสำราญในภูมิภาคนี้ที่จะเดินทางผ่าน ปัจจุบันในแต่ละปีก็มีเรือสำราญเข้ามายังพื้นที่ปีละหลายสิบลำ ก่อให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ร้านค้าชุมชนได้เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากมีท่าเทียบเรือสำราญที่เป็นสากลและมีมาตรฐานในการรองรับ จะทำให้สามารถรองรับเรือสำราญได้มากขึ้น

สอดรับ นายสมชาย เสมมณี ท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดสุราษฎร์ธานี เผยว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนเกาะสมุย ปี 2567 มีการฟื้นตัวเติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจัยความสำเร็จมาจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ได้ประสานความร่วมมือจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาด ส่งผลให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวบนเกาะสมุยคึกคักอย่างมาก และที่น่ายินดีอีกอย่าง ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเกาะสมุย ที่เรือครุยส์ หรือสำราญหรูได้ปักหมุดเกาะสมุยเป็นจุดหมายในการท่องเที่ยวตลอดทั้งปี คาดว่าจะทำให้เกิดรายได้ภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาล บรรลุเป้าหมายได้ในปี 2567

นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยต่อเนื่อง

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 1 เมษายน 2567 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศ 9.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 42 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 ด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ จะช่วยจุดพลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย “IGNITE TOURISM THAILAND” สู่ Tourism Hub ให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามามากขึ้น พำนักในประเทศไทยนานขึ้น และใช้จ่ายมากขึ้น ให้ประเทศไทยเป็นที่หนึ่งของการท่องเที่ยว สำหรับตัวเลขของนักท่องเที่ยวที่เดินทางสู่เกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี คาดว่ามีประมาณวันละกว่า 4,500 คน

แก้ปัญหาครบวงจรบนเกาะสมุย ยกระดับแหล่งท่องเที่ยว

ในวันที่ 7 เมษายน 2567 นายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปตรวจที่เตาเผาขยะสมุย อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อติดตามแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะในอำเภอเกาะสมุย จากนั้น ในช่วงบ่ายจะไปเยี่ยมชมแปลงทุเรียนสาธิต ณ สวนทุเรียนนายชัยณรงค์ ทองสุข อำเภอเกาะสมุย ซึ่งเป็นการรวมตัวของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนในตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย เพื่อเข้ากระบวนการพัฒนาตามระบบส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ เสร็จแล้ว นายกฯ จะเดินทางต่อไปยังสำนักงานเทศบาลนครเกาะสมุย เพื่อพบปะประชาชน และเยี่ยมชมนิทรรศการสินค้า OTOP พร้อมประชุมบูรณาการจังหวัดสุราษฎร์ธานีในประเด็นสำคัญ เช่น น้ำประปา การบริหารจัดการขยะ การส่งเสริมการท่องเที่ยว การพัฒนาท่าอากาศยานนานาชาติสมุย เป็นต้น


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar